ADVANC ปี67 กำไรพุ่ง3.5หมื่นล้าน อนุมัติปันผลที่5.74 บ.ต่อหุ้น XD 20 ก.พ.68

          หุ้นวิชั่น – ADVANC รายงานกำไรสุทธิปี 67 ที่ 35,075 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% EBITDA แตะ 1.13 แสนลบ. โต 20% รับรู้รายได้ TTTBB การเติบโตของธุรกิจหลัก สนับสนุนโดยการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก 3BBIF ปี 2568 ตั้งเป้าการเติบโตควบคู่เศรษฐกิจที่ 3-5% วางงบลงทุน 26,000 – 27,000 ล้านบาท เคาะปันผลที่ 5.74 บาทต่อหุ้น XD วันที่ 20 ก.พ. 2568

          บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)หรือADVANC รายงานผลประกอบการ ในปี 2567 เอไอเอสประกาศกำไร EBITDA ที่ 113,243 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปีก่อนโดยได้รับผลบวกจากการรับรู้รายได้ TTTBB การเติบโตของธุรกิจหลัก สนับสนุนโดยการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก 3BBIF โดยอัตรากำไร EBITDA ขยายตัวเป็น ร้อยละ 53.0 เทียบกับ ร้อยละ 50.0 ในปี 2566 จากการมุ่งเน้นการสร้างรายได้เพื่อเพิ่มกำไรอย่างต่อเนื่องการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดีขึ้น อัตรากำไรจากการขายอุปกรณ์มือถือที่ดีขึ้น และประโยชน์ร่วมกันเชิงรายได้และต้นทุนจากการรวม TTTBB (Synergies)

          เอไอเอสรายงานกำไรสุทธิที่ 35,075 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับปีก่อน แสดงถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง การขยายธุรกิจสอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ในปี 2567 เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน โดยได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แม้ว่าความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และหนี้ครัวเรือนที่สูงยังกดดันการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย

          เอไอเอสมีรายได้จากการให้บริการหลักที่ 162,363 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการขยายธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านผ่านการควบรวมธุรกิจ TTTBB และการเติบโตปกติ ส่วนธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโตผ่านการเป็นผู้นำด้านโครงข่ายและความต้องการใช้ข้อมูลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรยังคงเติบโตผ่านความต้องการบริการเชื่อมต่อข้อมูลที่มากขึ้น

          ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังคงเติบโตต่อเนื่องผ่านคุณภาพโครงข่ายที่แข็งแกร่งและการเติบโตของการใช้ข้อมูลรายได้จากธุรกิจโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ 123,803 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการเป็นผู้นำด้านโครงข่าย การเติบโตของปริมาณการใช้ข้อมูลและการฟื้นตัวตามการท่องเที่ยว โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน สอดคล้องกับการกลับมาของนักท่องเที่ยวและความต้องการการเชื่อมต่อในประเทศ เอไอเอสมี ARPU เฉลี่ยเติบโตร้อยละ 2.0 ผ่านกลยุทธ์ที่เน้นสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งรวมถึงการขายพ่วง (Cross-sell & Upsell) การขายแพ็กเกจที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล และการขายร่วมกับเนื้อหาคอนเทนต์

          เอไอเอสมุ่งมั่นที่จะมอบคุณภาพการบริการที่เหนือระดับผ่านโครงข่าย 5G ที่ครอบคลุมประชากรไทยมากกว่าร้อยละ 95 เอไอเอสสร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพการดำเนินงานและมอบประสบการณ์ที่เป็นเลิศแก่ลูกค้าผ่านการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมส่งเสริมในการขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 5G รวม 12 ล้านเลขหมาย คิดเป็นร้อยละ 26 ของฐานผู้ใช้บริการทั้งหมด

          การเติบโตของบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจากความครอบคลุมที่เพิ่มขึ้น บริการที่มีคุณภาพ และผลิตภัณฑ์นวัตกรรม รายได้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอยู่ที่ 29,441 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 116 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการควบรวม TTTBB การขยายจำนวนผู้ใช้บริการ และการเพิ่มขึ้นของ ARPU โดยเอไอเอสมุ่งเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพผ่านเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมส่งเสริมแพ็กเกจที่มีมูลค่าเพิ่ม

          เอไอเอสให้ความสำคัญกับกระบวนการควบรวม TTTBB เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ผู้ใช้งานกว่า 5 ล้านราย และปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยมีแผนที่จะบรรลุการควบรวมการดำเนินงานให้เป็นระบบเดียวภายในปี 2569  รายได้จากบริการลูกค้าองค์กรพุ่งสูงขึ้น ด้วยความต้องการที่เติบโตของบริการเชื่อมต่อโครงข่าย
บริการลูกค้าองค์กร (ไม่รวมโทรศัพท์เคลื่อนที่) มุ่งเน้นการขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมต่อโครงข่ายเป็นหลัก โดยมีรายได้ 7,045 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการเติบโตของบริการเชื่อมต่อโครงข่าย (EDS), การให้บริการคลาวด์ และการรับรู้รายได้จากบริการลูกค้าองค์กรของ TTTBB
ในปี 2567 เอไอเอสได้จับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทระดับโลกอย่าง Oracle เพื่อขยายบริการที่เกี่ยวข้องกับ คลาวด์ และ โซลูชันต่าง ๆ

          สำหรับปี 2568 เอไอเอสตั้งเป้าแนวโน้มการเติบโต ทั้งรายได้จากการให้บริการหลัก และกำไร EBITDA ควบคู่ไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ประมาณร้อยละ 3 ถึง 5 โดยกำไร EBITDA เติบโตจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น กระบวนการควบรวมกิจการ และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในส่วนของงบประมาณการลงทุนอยู่ที่ 26,000 ถึง 27,000 ล้านบาท โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนที่สร้างกำไรเป็นหลัก
พร้อมที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติ 2567 เป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตรา 10.61 บาทต่อหุ้น โดยบริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 ในอัตรา 4.87 บาทต่อหุ้น ดังนั้นคงเหลือจ่ายปันผลสำหรับงวดนี้ 5.74 บาทต่อหุ้น

          ทั้งนี้ กำหนดให้จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นที่มีรายชื่อปรากฏ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 (Record Date) โดยวันขึ้นเครื่องหมาย XD วันแรกคือวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 10 เมษายน 2568

แชร์:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แนวคิด “ซื้อลูกหนี้ประชาชน”  ทำไม JMT ถึงได้ประโยชน์?

แนวคิด “ซื้อลูกหนี้ประชาชน” ทำไม JMT ถึงได้ประโยชน์?

อภิปรายรัฐบาลประทุ เขย่าหุ้นไทยแค่ไหน? โผ 5 บจ.ซื้อหุ้นคืน- จับตา 10 หุ้น Deep Value เช็กได้!

อภิปรายรัฐบาลประทุ เขย่าหุ้นไทยแค่ไหน? โผ 5 บจ.ซื้อหุ้นคืน- จับตา 10 หุ้น Deep Value เช็กได้!

EGCO ทุ่มงบ 3 หมื่นลบ. รุกขยายพลังงานในปท.-ตปท.

EGCO ทุ่มงบ 3 หมื่นลบ. รุกขยายพลังงานในปท.-ตปท.

TRUE เสนอขายหุ้นกู้อายุ 3 - 10 ปี ชูดอกเบี้ยคงที่ 3.00-3.95%

TRUE เสนอขายหุ้นกู้อายุ 3 - 10 ปี ชูดอกเบี้ยคงที่ 3.00-3.95%

ข่าวล่าสุด

ทั้งหมด