หุ้นวิชั่น – ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน สำหรับบุคคลธรรมดาของธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ของบริษัทจดทะเบียนไทย สูงประมาณ 1.37 ถึง 2.48 เท่าของอัตราดอกเบี้ยฝากประจำ 12 เดือน ดังนั้น การลงทุนในหุ้นปันผล จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลงทุนระยะยาว
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มหุ้นปันผลโดยเผยแพร่ดัชนีราคา SET High Dividend 30 (SETHD Index) ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2554 ซึ่งคัดเลือก 30 หลักทรัพย์จาก SET100 Index โดยพิจารณาจากสภาพคล่องสูงอย่างสม่ำเสมอและมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง ซึ่งพบว่า
- หากพิจารณาผลตอบแทนของการเปลี่ยนแปลงของดัชนีในช่วง 5 ปีย้อนหลัง ที่ผ่านช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส (COVID-19) พบว่า SETHD Index ให้ผลตอบแทนดีกว่าทั้ง SET Index และ SET100 Index และหากพิจารณาผลตอบแทนของการเปลี่ยนแปลงดัชนีในช่วง 10 ปีย้อนหลัง พบว่า SETHD Index ลดลงน้อยกว่า Index และ SET100 Index
- ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนจากเงินปันผลในช่วง 3 ปีล่าสุดของทุกหลักทรัพย์ที่องค์ประกอบ SETHD Index อยู่ที่ 58% โดยค่าเฉลี่ยฯ อยู่ในช่วง 2.45% ถึง 17.03% และพบว่า 16 หลักทรัพย์จากทั้งหมด 30 หลักทรัพย์ มี Dividend Yield เฉลี่ย 3 ปี สูงกว่า 5% ต่อปี โดยมี Dividend Yield เฉลี่ย 3 ปีอยู่ในช่วง 5.43% ถึง 17.03%
- หากนักลงทุนไม่ต้องการเลือกลงทุนในหุ้นรายตัวในองค์ประกอบของ SETHD Index อาจพิจารณาเลือกลงทุนใน “1DIV” ได้ โดยกองทุนเปิดไทยเด็กซ์ SET High Dividend ETF (1DIV) เป็นหน่วยลงทุนของกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่มีประวัติการจ่ายเงินปันผลดีและสม่ำเสมอ ซึ่งจะลงทุนในตราสารทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีอ้างอิง (ดัชนี SET High Dividend 30 Index)
โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำอยู่ในระดับต่ำ การเลือกลงทุนในหุ้นปันผลที่ขณะนี้ที่ราคาหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักลงทุนโดยอาจเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของ SETHD Index ที่เป็นหลักทรัพย์ที่สภาพคล่องสูงอย่างสม่ำเสมอ และมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงและต่อเนื่อง หรือเลือกลงทุนใน “1DIV” ที่เป็นหน่วยลงทุนของกองทุนที่เน้นการลงทุนในองค์ประกอบของ SETHD Index อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วย อาทิ ราคาตลาดของหลักทรัพย์ในขณะนั้นเมื่อเทียบกับราคาที่แท้จริง ความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ ภาวะเศรษฐกิจไทยและต่างประเทศ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน สภาพคล่องในการซื้อขาย จังหวะเวลาในการเข้าลงทุนในหุ้นปันผลนั้น ๆ เป็นต้น
อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ของบริษัทจดทะเบียนไทยสูงประมาณ 1.25 – 2.25 เท่าของอัตราดอกเบี้ยฝากประจำ 12 เดือน ขณะที่บางอุตสาหกรรมมี Dividend Yield สูงเป็น 2 เท่าของอัตราที่สูงที่สุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนของธนาคารพาณิชย์
เมื่อพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยฝากประจำ 12 เดือน สำหรับบุคคลธรรมดาของธนาคารพาณิชย์ที่เปิดเผยในเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ณ สิ้นปี 2567 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนฯ (ตารางที่ 1) ส่วนใหญ่ปรับลดลงจากสิ้นปี 2566 มาอยู่ที่ระดับ 1.30% ถึง 2.35% ขณะที่ระดับเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ระดับ 0.4%
เมื่อพิจารณาผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ณ สิ้นปี 2561 – 2567 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย (ตารางที่ 2) พบว่า ในทุกปีที่ทำการศึกษาผลตอบแทนจากเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (SET) สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน และสูงประมาณ 1.37 – 2.48 เท่าของอัตราที่สูงที่สุดของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนของธนาคารพาณิชย์ และพบว่า ณ สิ้นปี 2567 บางอุตสาหกรรมให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงเกือบ 2 เท่าของอัตราที่สูงที่สุดของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนฯ ดังนั้น การลงทุนระยะยาวโดยการเลือกลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่จ่ายเงินปันผล อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการโยกย้ายเงินออม โดยนักลงทุนต้องพิจารณาจังหวะในการเข้าซื้อหุ้นเมื่อราคาหุ้นอยู่ในระดับที่เหมาะสม
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มหุ้นปันผลโดยเผยแพร่ดัชนีราคา SET High Dividend 30 Index (SETHD) ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2554 ซึ่ง SETHD Index เป็นดัชนีที่สะท้อนความเคลื่อนไหวราคาของกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง (Market Capitalization) มีสภาพคล่องสูงอย่างสม่ำเสมอ และมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงและต่อเนื่อง
สำหรับคุณสมบัติของหลักทรัพย์ที่อาจได้รับการคัดเลือกเป็นองค์ประกอบดัชนี ดังนี้
- หลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของ SET100 Index ในรอบทบทวนเดียวกัน ซึ่งเป็นตัวแทนของหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง มีสภาพคล่องสูงอย่างสม่ำเสมอ
- จ่ายตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยพิจารณาจากพฤติกรรมของบริษัทจดทะเบียนในการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีการจ่ายเงินปันผลต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปีตามรอบบัญชี โดยการจ่ายเงินปันผลนี้ไม่รวมการจ่ายเงินปันผลที่บริษัทจดทะเบียนระบุว่าเป็น “เงินปันผลพิเศษ”
- พิจารณาถึงการเติบโตของกิจการในอนาคต โดยบริษัทจดทะเบียนจะต้องจ่ายเงินปันผลไม่เกินกว่ากำไรสุทธิในงวดนั้นๆ หรือมีอัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout Ratio) โดยเฉลี่ยในช่วง 3 ปีย้อนหลังไม่เกิน 100% และแต่ละปี Payout Ratio ต้องไม่ติดลบ
ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะคัดเลือก 30 หลักทรัพย์ที่ผ่านตามคุณสมบัติตามค่าเฉลี่ยผลตอบแทนจากเงินปันผล (Average Daily Dividend Yield) 3 ปีล่าสุดตามรอบการทบทวนรายชื่อดัชนี SETHD โดยหลักทรัพย์ที่มีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนจากเงินปันผลฯ สูงสุด 20 อันดับแรกจะเป็นองค์ประกอบของดัชนี SETHD โดยอัตโนมัติ ขณะที่อีก 10 หลักทรัพย์และสำรองอีก 5 หลักทรัพย์จะพิจารณาจากหลักทรัพย์ที่มีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนจากเงินปันผลฯ สูงสุดในอันดับที่ 21 – 40 โดยจะคัดเลือกหลักทรัพย์ที่เคยเป็นองค์ประกอบของดัชนี SETHD ในรอบก่อน หน้าที่เป็นองค์ประกอบดัชนีก่อน หากยังไม่ครบ 30 หลักทรัพย์ จะคัดเลือกจากหลักทรัพย์ที่อยู่ในอันดับที่ 21 – 40 ที่เหลืออยู่ จนกว่าจะได้หลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบดัชนีและ หลักทรัพย์สำรองครบตามจำนวน
รายชื่อหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบดัชนี SETHD จะมีการทบทวนทุก 6 เดือน คือ รอบทบทวนเดือนมิถุนายน (สำหรับข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม ปีเดียวกัน) และรอบทบทวนเดือนธันวาคม (สำหรับข้อมูลที่ใช้ในการคำนวนช่วงระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายนปีถัดไป) หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.set.or.th/th/market/index/sethd/profile
เกณฑ์การคำนวณจะคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization Weight) และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) โดยอัตรา ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงสุดของแต่ละหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณต้องไม่เกิน 15% และกำหนดให้มีการจำกัดน้ำหนักของ “ผลคูณระหว่างมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดและอัตรา ผลตอบแทนจากเงินปันผล” ของแต่ละหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบในดัชนีไม่เกิน 10% ทุกไตรมาส
หลักเกณฑ์การจัดทำดัชนีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ฉบับล่าสุด (เดือนมกราคม 2568) จาก https://rb.gy/bz0ef9
เมื่อประเมินผลตอบแทนจากการเปลี่ยนแปลงดัชนีของ SETHD Index เทียบกับ SET Index และ SET100 Index (ตารางที่ 3) พบว่า
- หากพิจารณาผลตอบแทนของการเปลี่ยนแปลงของทั้ง 3 ดัชนีในช่วง 5 ปีย้อนหลัง ที่ผ่านช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส (COVID-19) ตามตารางที่ 3 และภาพที่ 1 พบว่า SETHD Index ให้ผลตอบแทนดีกว่าทั้ง SET Index และ SET100 Index และหากพิจารณาผลตอบแทนของการเปลี่ยนแปลงดัชนีในช่วง 10 ปีย้อนหลัง พบว่า SETHD Index ลดลงน้อยกว่า Index และ SET100 Index
16 หลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบ SETHD Index มี Dividend Yield เฉลี่ย 3 ปี สูงกว่า 5% ต่อปี
เมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ยผลตอบแทนจากเงินปันผลในช่วง 3 ปีล่าสุ พบว่า ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนจากเงินปันผลในช่วง 3 ปีล่าสุดของทุกหลักทรัพย์ที่องค์ประกอบ SETHD Index อยู่ที่ 5.58% โดยค่าเฉลี่ยฯ อยู่ในช่วง 2.45% ถึง 17.03% และพบว่า 16 หลักทรัพย์จากทั้งหมด 30 หลักทรัพย์ มี Dividend Yield เฉลี่ย 3 ปี สูงกว่า 5% ต่อปี โดยมี Dividend Yield เฉลี่ย 3 ปีอยู่ในช่วง 5.43% ถึง 17.03% ตามแสดงในตารางที่ 4
หากนักลงทุนไม่ต้องการเลือกลงทุนในหุ้นรายตัวในหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของ SETHD Index อาจเลือกลงทุนใน “1DIV” ได้ โดยกองทุนเปิดไทยเด็กซ์ SET High Dividend ETF (1DIV) เป็นหน่วยลงทุนของกองทุนที่นโยบายลงทุนในหุ้นที่มีประวัติการจ่ายเงินปันผลดีและสม่ำเสมอ ซึ่งจะลงทุนในตราสารแห่งทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีอ้างอิง (ดัชนี SET High Dividend 30 Index) ซึ่งรวมถึงหลักทรัพย์ที่อยู่ในระหว่างการเข้าหรือออกจากการเป็นหลักทรัพย์ที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีอ้างอิงด้วย ซึ่งการลงทุนใน 1DIV นอกจากจะช่วยลดระยะเวลานักลงทุนในการติดตามหุ้นรายตัว เนื่องจากมีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้บริหารจัดการแล้ว ยังสามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนโดยอัตโนมัติผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุนที่เปรียบเสมือนตระกร้ารวมหุ้นปันผล โดยจากราคาปิดของ 1DIV ณ 9 เมษายน 2568 อยู่ที่ 9.42 บาท ต่ำกว่ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วยของกองทุนที่อยู่ที่ 9.4264 บาท (ภาพที่ 2)
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก 1DIV ก็เป็นหน่วยลงทุนที่บริหารแบบเชิงรับ (Passive Fund) สามารถปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีแนวโน้มว่าผลประกอบการอาจด้อยลงได้อย่างทันที อาจทำให้การลงทุนใน 1DIV มีผลตอบแทนจำกัด และเนื่องจากหลักทรัพย์ที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีอ้างอิงพิจารณาหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีผลตอบแทนจากเงินปันผลทำให้หลักทรัพย์กระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจการเงินกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และกลุ่มทรัพยากร ทำให้กองทุนอาจมีความเสี่ยงสูงหากอุตสาหกรรมเหล่านั้นประสบปัญหา และเนื่องจาก 1DIV มีการดำเนินการเป็นกองทุนจึงมีค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมการจัดการเพิ่มเติม ซึ่งต่างจากการลงทุนในหุ้นรายตัว ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำอยู่ในระดับต่ำ การเลือกลงทุนในหุ้นปันผลที่ขณะนี้ที่ราคาหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักลงทุนโดยอาจเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของ SETHD Index ที่เป็นหลักทรัพย์ที่สภาพคล่องสูงอย่างสม่ำเสมอ และมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงและต่อเนื่อง หรือเลือกลงทุนใน “1DIV” ที่เป็นหน่วยลงทุนของกองทุนที่เน้นการลงทุนในองค์ประกอบของ SETHD Index อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วย อาทิ ราคาตลาดของหลักทรัพย์ในขณะนั้นเมื่อเทียบกับราคาที่แท้จริง ความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ ภาวะเศรษฐกิจไทยและต่างประเทศ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน สภาพคล่องในการซื้อขาย จังหวะเวลาในการเข้าลงทุนในหุ้นปันผลนั้น ๆ เป็นต้น
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย