หุ้นวิชั่น – บจ.ไทยแอร์เอเชีย (TAA) ยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดภายในประเทศเป็นอันดับหนึ่งอยู่ที่ 40% ด้วยจำนวนผู้โดยสารตลอดปี 67 อยู่ที่ 20.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน / ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องไปกับภาคการท่องเที่ยว ด้วยรายได้ขยายตัวเกือบ 20% ในปี 67 / TAA เสนอขายหุ้นกู้ อายุ 2 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.5% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน เปิดให้จองซื้อในระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2568
ภาพรวมธุรกิจ
บจ. ไทยแอร์เอเชีย (TAA) ก่อตั้งขึ้นในปี 2546 เพื่อดำเนินธุรกิจสายการบินราคาประหยัด และเริ่มให้บริการเที่ยวบินเป็นครั้งแรกในปี 2547 โดยมีบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) (AAV) ซึ่งก่อตั้งในปี 2549 และประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ถือหุ้นใน บจ. ไทยแอร์เอเชีย เพียงแห่งเดียว
TAA มีรายได้หลักจากการให้บริการขนส่งผู้โดยสารแบบประจำ (Scheduled Passenger Services) และการให้บริการเสริม (Ancillary Services) ตามความประสงค์ของผู้ใช้บริการ เช่น ค่าบริการฝากสัมภาระใต้ท้องเครื่อง ค่าเลือกที่นั่ง ค่าอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่อง รวมถึงบริการพื้นที่ระวางสินค้า (AirAsia Cargo) และอื่นๆ
จุดเด่นของ TAA คือ บริการการเดินทางแบบชั้นบินประเภทเดียว ฝูงบินแบบเครื่องบินตระกูลเดียว การให้บริการแบบไม่มีการเชื่อมต่อ (Point-to-point) อัตราการใช้เครื่องบินต่อลำในระดับสูง การประหยัดต่อขนาด ช่องทางการจัดจำหน่ายหลากหลาย เครือข่ายเส้นทางการบินที่ครอบคลุม ทำให้มีต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่งในอุตสหกรรม
โดยมีฐานปฏิบัติการบิน (Hub) ในไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ (ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) ภูเก็ต และเชียงใหม่ ที่เน้นให้บริการเส้นทางการบินที่หลากหลายและเพิ่มความถี่เที่ยวบินทั้งภายในและระหว่างประเทศ ซึ่งใช้เวลาเดินทางต่อเที่ยวบินไม่เกิน 5 ชั่วโมงจากแต่ละ Hub ในไทย
ผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว
ข้อมูลจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) รายงานภาพรวมการขนส่งทางอากาศในไตรมาส 4 ขยายตัวต่อเนื่อง ด้วยจำนวนผู้โดยสารและปริมาณเที่ยวบินเพิ่มสูงขึ้นตามการติบโตของภาคการท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย ประกอบกับนโยบายยกเว้นวีซ่าของรัฐบาลไทยที่ครอบคลุม 93 ประเทศ สะท้อนจากจำนวนผู้โดยสารประมาณ 38 ล้านคนในไตรมาส 4 ปี 2567เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 5 ล้านคน (+15.2% QoQ) และปริมาณเที่ยวบินสอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสาร ด้วยจำนวน 238,415 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 11.07% QoQ
สถิติการขนส่งทางอากาศ (4Q2567)
โดยการขนส่งทางอากาศที่เติบโตนั้น สอดคล้องไปกับรายได้จากการขายและบริการของ TAA ที่ขยายตัวขึ้นเกือบ 21% QoQ ในไตรมาส 4/2567 ส่งผลให้ในภาพรวมของปี 2567 รายได้จากการขายและบริการของบริษัทอยู่ที่ 49,435.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.9% YoY โดยแบ่งเป็นรายได้จากค่าโดยสาร (Ticket revenue) 82.8% และรายได้จากบริการเสริม (Ancillary revenue) 17.2% และมีกำไรสุทธิ 3,482.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.52 เท่า จากปีก่อน ซึ่ง บจ.ไทยแอร์เอเชีย ยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดภายในประเทศเป็นอันดับหนึ่งอยู่ที่ 40%
โดยผลการดำเนินงานที่เติบโตดังกล่าว สะท้อนการฟื้นตัวที่โดดเด่น ด้วยการให้บริการผู้โดยสารทั้งสิ้น 20.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน (18.9 ล้านคน) และอัตราการขนส่งผู้โดยสาร 91% (Load factor) เน้นเป็นผู้โดยสารภายในประเทศเป็นหลัก (63%) ด้วยค่าโดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้น จาก 1,780 บาท ในปี 2566 สู่ 1,967 บาท ในปี 2567 นอกจากนี้ ได้มีการเพิ่มเครื่องบินอีก 4 ลำ ทำให้ฝูงบินเพิ่มเป็น 60 ลำ และเป็นเครื่องบินปฏิบัติการ ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ 56 ลำ จาก 52 ลำ ณ สิ้นปี 2566
เนื่องจากเป็นการวิเคราะห์หุ้นกู้เป็นหลัก จึงอิงงบการเงินของ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ออกหุ้นกู้
ตั้งเป้ารายได้โต 15% ในปี 68 พร้อมเครื่องบินใหม่อีก 6 ลำ
จากเป้าหมายของจำนวนนักท่องเที่ยวโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ประมาณ 40 ล้านคนในปี 2568 บริษัทจึงคาดการณ์รายได้หลักจะเติบโตระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่ประมาณ 15% YoY ด้วยจำนวนผู้โดยสาร 23-24 ล้านคน โดยจะรักษาอัตราขนส่งผู้โดยสารใกล้ระดับ 90% รวมถึงเป้าหมายการเพิ่มระดับความตรงต่อเวลา (On-Time Performance: OTP) ให้กลับมาอยู่ในระดับ 90% ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เคยทำได้โดดเด่น ซึ่งในปี 2567 ทำได้อยู่ที่ระดับ 79% (เที่ยวบินจะถือว่า ตรงเวลา เมื่อออกเดินทางไม่เกินกว่า 15 นาทีตามกำหนดการ)
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนเพิ่มขนาดฝูงบินเป็น 66 ลำในปี 2568 โดยมีกำหนดรับมอบเครื่องบินลำแรกภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ เพื่อรองรับการเติบโต รวมถึงการเปิดเส้นทางการบินใหม่ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งในไตรมาสที่ผ่านมา มีการเปิดเส้นทางการบินใหม่ จากเส้นทางดอนเมืองสู่ลำปาง เส้นทางบินข้ามภูมิภาคจากภูเก็ตสู่อุดรธานี และจากดอนเมือง สู่ อินเดีย (คยา, ไฮเดอราบัค, โกลกาตา) เวียดนาม (ฟูก๊วก) เนปาล (กาฐมาณฑุ) กัมพูชา (เสียมเรียบ)
หุ้นกู้ TAA
อันดับเครดิตองค์กรอยู่ที่ระดับ BBB- แนวโน้มอันดับเครดิต Stable ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มของทริสเรทติ้งเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 เนื่องจากทริสคาดว่าผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทจะดีขึ้นจากความต้องการเดินทางทางอากาศดีขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางอัตราค่าโดยสารยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความสามารถในการทำกำไรของ TAA อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับเครดิตได้พิจารณาถึงธรรมชาติที่แปรปรวนตามวงจรของธุรกิจสายการบิน ทั้งเรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ
แผนเสนอขายหุ้นกู้ TAA เสนอขายหุ้นกู้ต่อผู้ลงทุนสถาบัน หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ มีประกัน อายุ 2 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.5% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน โดยผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดได้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป และเปิดให้จองซื้อในระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2568
วัตถุประสงค์ในการออกหุ้นกู้ครั้งนี้ เพื่อใช้ชำระคืนหนี้จากการออกหุ้นกู้ TAA254A ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 27 เมษายน 2568 จำนวน 1,500 ล้านบาท และใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 300 ล้านบาท รวมถึงเป็นเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายในกิจการที่เกี่ยวข้องอีก 200 ล้านบาท ทำให้มูลค่าเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้อยู่ที่ไม่เกิน 2,000 ล้านบาท
หุ้นกู้คงค้าง ณ ปัจจุบันของ TAA อยู่ที่ 5,700 ล้านบาท (เงินต้น) โดยเป็นหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระในปี 2568 รวม 1,500 ล้านบาท ซึ่ง TAA ออกหุ้นกู้มาแล้วทั้งหมด 10 รุ่น ตั้งแต่ปี 2560 และจากกราฟด้านล่าง จะเห็นว่าบริษัทมีเงินสดที่เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่สิ้นปี 2566 โดยหลักมาจากเงินสดจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นมากกว่าเงินที่นำไปลงทุนหรือชำระหนี้ ขณะเดียวกัน หนี้สินจากหุ้นกู้ก็เพิ่มสูงขึ้นตามมาจากการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อชำระคืนหุ้นกู้เดิม (Roll over)
ปัจจัยเสี่ยง
บริษัทไม่ได้กำหนดอัตราส่วนทางการเงินที่ต้องดำรงไว้ในข้อกำหนดสิทธิ (Financial Covenants) สำหรับการเสนอขายครั้งนี้ ซึ่งส่งผลให้มีความเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมระดับการก่อหนี้ได้ แต่บริษัทเองก็มีการจำกัดการก่อหนี้ด้วยการกำหนด Internal Financial Covenants ให้สอดคล้องกับ Financial Covenants ที่มีกับสถาบันการเงิน ซึ่งหากบริษัทไม่สามารถรักษาระดับหรือไม่ได้รับการผ่อนผันจากสถาบันการเงิน อาจทำให้บริษัทถูกเรียกชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนดได้ และอาจเข้าข่ายผิดนัดหุ้นกู้ (Cross Default)
ความเสี่ยงของส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นลบ ตั้งแต่สถานการณ์ COVID-19 ในปี 2562 ที่ส่งผลต่อผลการดำเนินงานที่ลดลงสะสมมา และแม้ว่าผลการดำเนินงานได้ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 แต่ก็ยังมีความผันผวนจากต้นทุนหลักในการดำเนินงานของบริษัทส่วนใหญ่ เช่น ต้นทุนน้ำมัน ค่าเช่าเครื่องบิน และค่าบำรุงรักษาเป็นสกุลเงินต่างประเทศ และกระแสเงินสดยังไม่ได้อยู่ในระดับเพียงพอที่จะชำระหนี้ระยะสั้นได้ จึงต้องพึ่งพาเงินทุนจากการออกหุ้นกู้เป็นหลัก จึงอาจมีความเสี่ยงหากไม่สามารถระดมทุนได้ตามแผน