หุ้นวิชั่น - กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทยอยประกาศงบไตรมาส 1/68 หลายแห่งกำไรออกมาดี หนุนจากต้นทุนสำรองฯ ลดลง แม้เผชิญแรงกดดันจากดอกเบี้ยขาลง-หนี้เสียขยับขึ้น ด้าน SCB, KBANK และ KKP เตรียมเผยผลประกอบการวันจันทร์นี้ ดังนั้นคาดการณ์กำไรสุทธิรวมของธนาคารในไตรมาส 1/68 อยู่ที่ 59,500 ล้านบาท ชู TTB-KTB-BBL เป็น Top picks จากกำไรเด่น-ปันผลสูง-ราคายังไม่แพง
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ทยอยประประกาศงบไตรมาส 1/2568 กันมาต่อเนื่อง อาทิ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TISCO), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL), ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (CIMBT), ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) (TTB) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ได้ประกาศผลการดำเนินงานออกมาแล้ว
และยังมีธนาคารพาณิชย์ที่จะทยอยประกาศผลประกอบการมาอีก ในจันทร์ที่ 21 เมษายน 2568 คาดว่าจะมี 3 ธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK), บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCB) และ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (KKP) ประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2568 ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา
นายธนเดช รังษีธนานนท์ Director of Research บล.พาย กล่าวถึงภาพรวมผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ที่ได้มีการรายงานงบออกมาแล้ว โดยรวมยังอยู่ในทิศทางที่ดี อย่าง BBL ออกมาดีกว่าคาด, TISCO ใกล้เคียงคาด ขณะที่ TTB ต่ำกว่าคาด แต่สิ่งที่พบคือ Margin ของธนาคารดูอ่อนแอ จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อให้สอดรับกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ประกอบกับการลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้เปราะบางที่เข้าร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” และการปรับโครงสร้างหนี้ในอดีต รวมถึงภาพหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับตัวขึ้นทุกธนาคาร
ส่วน 3 ธนาคารพาณิชย์ที่เหลือ ที่จะรายงานงบในวันจันทร์นี้ ก็คาดว่าจะออกมาดี โดย SCB คาดว่าจะมีกำไรสุทธิในไตรมาส 1/2568 อยู่ที่ 11,974 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และ 2.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ), KBANK คาดอยู่ที่ 12,860 ล้านบาท ลดลง -4.6% YoY และ เพิ่มขึ้น 27.9% QoQ ด้าน KKP คาดไว้ที่ 1,233 ล้านบาท ลดลง -18.1% YoY และลดลง -12.3% QoQ
ทั้งนี้คาดการณ์กำไรสุทธิรวมของธนาคารในไตรมาส 1/2568 อยู่ที่ 59,500 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4.1% YoY, 11.5% QoQ) หนุนจากสำรองหนี้ฯ ลดลงเป็นหลัก อย่างไรก็ดีการที่สหรัฐประกาศปรับขึ้นภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้ากว่า 180 ประเทศ รวมทั้งสินค้าไทยจะถูกปรับขึ้นถึง 36% อาจกดดันเศรษฐกิจไทยชะลอตัวมากกว่าคาด ซึ่งส่งผลต่อการอ่อนแอในหลายด้านในอนาคต เช่น การขยายสินเชื่อใหม่ลดลง NIM ลดลง และหนี้เสียสูงขึ้น แต่เชื่อว่าธนาคารมีระดับสำรองหนี้ฯ สูง และเงินกองทุนสูงสามารถรับมือความไม่แน่นอนได้
สำหรับทั้งปี 2568 บล.พาย เตรียมทบทวนเป้าหมายกำไรสุทธิรวมของกลุ่มธนาคารอีกครั้ง หลังทุกธนาคารรายงานงบออกมากันครบแล้ว จากคาดการณ์เดิม กำไรสุทธิรวมน่าจะเติบโต 3.4% มาที่ 232,000 ล้านบาท เนื่องด้วยอัตราภาษีใหม่ของสหรัฐทำให้เศรษฐกิจมีความท้าทายสูงขึ้นอาจกดดันการเติบโตของธนาคารอ่อนแอกว่าคาดได้ และกดดันให้ราคาหุ้นธนาคารมีความเสี่ยงผันผวนสูงขึ้น นอกจากนี้ยังคาดว่าจะเห็นคณะกรรมการโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้เพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง ทำให้กดดันมาร์จิ้นของธนาคาร อีกทั้งภาพสินเชื่อ อาจไม่ได้โตตามคาด จากเดิมคาดว่าจะโตราว 1% และผลกระทบรายได้จากตลาดทุนที่ลดลง
บล.ดาโอ คาดการณ์ว่ากำไรสุทธิไตรมาส 1/2568 ของ KBANK จะอยู่ที่ 13,028 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2567 (QoQ) จากค่าใช้จ่าย (OPEX) ลดลงตามฤดูกาล และการตั้งสำรองฯ ลดลง แต่ลดลง -3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน (YoY) เนื่องจากมีฐานกำไรจากเงินลงทุนสูงในปีก่อน,
คาด SCB จะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 11,387 ล้านบาท ทรงตัว เมื่อทียบกับ QoQ จากรายได้ค่าธรรมเนียมลดลงตามฤดูกาล และเพิ่มขึ้น 0.9% YoY จากการตั้งสำรองฯ ลดลง ส่วน
KKP คาดมีกำไรสุทธิที่ 1,282 ล้านบาท ลดลง -11.6% QoQ จากรายได้ค่าธรรมเนียมลดลงตามฤดูกาล และลดลง -14.8% YoY จากตั้งสำรองฯ ยังคงเพิ่มขึ้น จากลูกหนี้เช่าซื้อที่ปล่อยมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19
ทั้งนี้ยังคงน้ำหนักการลงทุน “มากกว่าตลาด” โดยคาดกำไรสุทธิรวมไตรมาส 1/2568 ของกลุ่มธนาคารจะอยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านบาท (+1% YoY, +8% QoQ) โดยเพิ่มขึ้น YoY , QoQ จากสำรองฯ และ OPEX ที่ลดลงเป็นหลัก โดยธนาคารที่เติบโตได้ดี YoY, QoQ คือ BBL (+5% YoY, +6% QoQ), KTB (+4% YoY, +10% QoQ) และ TTB (+1% YoY, +5% QoQ) จากสำรองฯที่ลดลงเป็นหลัก
ขณะที่กำไรสุทธิไตรมาส 1/2568 ที่ลดลง YoY, QoQ คือ KKP (-15% YoY, -12% QoQ), TISCO (-7% YoY, -5% QoQ) เพราะสำรองฯที่เพิ่มขึ้นตามการปล่อยสินเชื่อผลตอบแทนสูง อย่างจำนำทะเบียนที่เพิ่มขึ้น ด้านสินเชื่อไตรมาส 1/2568 ลดลงเล็กน้อย (-0.5% YoY, -0.3% QoQ) จากสินเชื่อภาครัฐ แต่สินเชื่อรายใหญ่ยังโตได้ดี ส่วน NPL จะทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ส่วน NPL รวมทยอยเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.08% จากไตรมาส 4/2567 ที่ 3.05% แต่ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้
ยังคงประมาณการกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารปี 2568-2569 อยู่ที่ 2.24 แสนล้านบาท และ 2.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น +4% YoY, +5% YoY ตามลำดับ จากสำรองฯที่ลดลงเป็นหลัก โดยคาดว่าจะมีการปรับตัวลดลง -9% YoY จากปี 2567 ที่ลดลง -7% YoY เพราะมีการตั้งเผื่อมาเยอะแล้ว ขณะที่ DAOL คาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง ที่ 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% ในปี 2568
กลุ่มธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้น +6%/+21%% ในช่วง 3 และ 6 เดือนที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับ SET เพราะตลาดหุ้นมีความผันผวนทำให้มีการโยกเงินเข้ามาในหุ้นที่มีมีอัตราเงินปันผลสูง โดยอัตราเงินปันผลเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 7% สูงกว่าอัตราปันผลเฉลี่ยของตลาดหุ้นที่ 3% ขณะที่ valuation ยังน่าสนใจ เทรดที่ระดับเพียง 0.68x 2025E PBV (-1.00SD below 10-yr average PBV) โดย Top picks เลือก TTB, KTB และ BBL
- TTB (แนะนำซื้อ/ให้ราคาเป้า 2.22 บาท) เพราะมีโครงการซื้อหุ้นคืนช่วยหนุนราคาหุ้น ประกอบกับมี Dividend yield สูงราว 7% ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันเทรดที่ PBV ที่ 0.80x ที่ระดับเพียง -0.50SD และราคาหุ้นยังไม่สะท้อนกำไรรายไตรมาสที่ยืนเหนือ 5 พันล้านบาทได้อย่างต่อเนื่อง
- KTB (แนะนำซื้อ/ให้ราคาเป้า 27.50 บาท) เพราะกำไรปี 2568 อยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านบาท โต +6% YoY ขณะที่ valuation ซื้อขายที่ PBV เพียง 0.76x (-0.50SD) ด้านราคาหุ้นยังไม่สะท้อนกำไรรายไตรมาสที่ยืนเหนือ 1 หมื่นล้านบาท ต่อเนื่องมา 5 ไตรมาสติดกัน ส่วน NPL จะดีกว่ากลุ่มเพราะเน้นปล่อยสินเชื่อภาครัฐ
- BBL (แนะนำซื้อ/ให้ราคาเป้า 186.00 บาท) เพราะมีความแข็งแกร่งทางด้านการเงินที่รองรับความเสี่ยงได้ดีกว่าคู่แข่ง เพราะมี coverage ratio สูงที่สุดที่ 334% ด้าน Valuation เทรดที่ PBV ถูกที่สุด ในกลุ่มเพียง 0.51x หรือที่ระดับ -1.25SD ย้อนหลัง 10 ปี และถูกกว่ากลุ่มที่เทรดที่ PBV ที่ 0.68x
รายงานโดย : พชรธร ภูมิคำ รองบรรณาธิการข่าว Hoonvision